News

คณะทำงานว่าด้วยการจัดการศึกษาแบบพหุภาษาจัดการประชุมนานาชาติเรื่องภาษาและการศึกษา ครั้งที่ 7

การประชุมครั้งนี้จะกล่าวถึงบทบาทของ 'ภาษาแรก' ของผู้เรียนในการฟื้นฟูและพลิกโฉมการศึกษา
a child in Bangladesh

สัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม คณะทำงานว่าด้วยการจัดการศึกษาแบบพหุภาษาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (MLE WG) จะจัดการประชุมนานาชาติเรื่องภาษาและการศึกษา ครั้งที่ 7 (7MLE) ณ กรุงเทพฯ เพื่อจุดประกายการสนทนา ส่งเสริมความร่วมมือ และยกระดับสถานะของการศึกษาแบบพหุภาษาในหลักสูตรของโรงเรียนทั่วโลก คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วย ยูเนสโก, ยูนิเซฟ, บริติช เคานซิล, CARE International (ประเทศกัมพูชา), กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์, มูลนิธิ Good Neighbors (ประเทศไทย), มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิเด็กเพซตาล๊อตซี่ (PCF), มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย), SIL International และสํานักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) 

ความเป็นมา

ในขณะที่โลกก้าวผ่านช่วงที่หนักหน่วงที่สุดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ประมาณปี พ.ศ. 2563-2565) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแน่ชัดคือ ไวรัสโคโรนาทำให้การศึกษาหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งในระดับโลกและในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการเรียนรู้อย่างแน่แท้ ปัญหาและความท้าทายด้านการศึกษาที่มีอยู่แล้ว (อย่างเช่นที่เพ่งเล็งไว้เพื่อแก้ไขปรับปรุงสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 หรือ SDG 4 ดังที่กำหนดไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว) ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งจากการศึกษาสถานการณ์โดยธนาคารโลก, ยูเนสโก, ยูนิเซฟ, กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (FCDO), หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) และมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ บ่งชี้ว่าเด็กเพียงร้อยละ 30 สามารถเข้าใจข้อความง่าย ๆ ได้เมื่ออายุ 10 ขวบ นอกจากนี้ เด็กที่มีพื้นฐานทางภาษาซึ่งแตกต่างจากภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนมักจะประสบปัญหาในสภาพแวดล้อมการศึกษาแบบมาตรฐานดังกล่าว และเด็กที่มาจากชนกลุ่มน้อยทางภาษาและกลุ่มชนพื้นเมืองต้องเผชิญกับอุปสรรคอื่น ๆ อีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ คงมีนักการศึกษาเพียงไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วยว่า การศึกษาที่ตอบสนองต่อภาษาอย่างครอบคลุมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรื่องนี้ไม่ใช่สมการที่ซับซ้อน หากผู้เรียนไม่เข้าใจและไม่พูดภาษาที่ใช้ในการสอนได้คล่อง ความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนย่อมถูกจำกัด ด้วยเหตุนี้ การบูรณาการภาษาแม่ของผู้เรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ของโลก จึงมีความสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของ SDG 4 ซึ่งก็คือ 'สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเสมอภาค และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต' ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์เสริมตาม สัญญาประชาคมใหม่เพื่ออนาคตของการศึกษา (พ.ศ. 2564) อันเป็นความริเริ่มที่กำหนดโดยการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (พ.ศ. 2565) และทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง (พ.ศ. 2565-2575) 

ในคำแถลงเปิดการประชุม คุณเดโบรา โคมินี ผู้อำนวยการยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ‘ภาษาคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อกการเรียนรู้ เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของสิ่งนี้และเร่งพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ’ 

จุดมุ่งหมายของการประชุม

การประชุม 7MLE จะเป็นเวทีให้ผู้กำหนดนโยบาย รัฐมนตรี นักวิชาการ ผู้ดำเนินการ นักการศึกษา เยาวชน ตัวแทนจากกลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องในด้านการศึกษา มีส่วนร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้พื้นฐานในภาษาแรก, การประเมินผู้เรียนพหุภาษา, การสรรหาครูและการพัฒนาวิชาชีพในสภาพแวดล้อมแบบพหุภาษา, รูปแบบ MLE แบบบวกสะสม, การประเมินโครงการ MLE, ความคืบหน้าล่าสุดของ MLE, นโยบายพหุภาษา, การแปลง MLE ให้เป็นดิจิทัล, การนับรวมทุกกลุ่มคนใน MLE, MLE ในภาวะวิกฤตและภาวะฉุกเฉิน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ MLE ตลอดจนบทบาทของ MLE ในทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง (พ.ศ. 2565-2575) 

การประชุมนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 มีเป้าหมายที่จะเสริมพลังของการศึกษาแบบพหุภาษาในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมสร้างระบบการศึกษาและเร่งพัฒนาการเรียนรู้ การนับรวมทุกกลุ่มคน และความสามารถในการฟื้นตัว โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนชายขอบทางภาษา

การประชุมระดับสูงเชิงนโยบาย

การประชุมระดับสูงเชิงนโยบายด้านการศึกษาแบบพหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ของการประชุม 7MLE เพื่อทบทวนความคืบหน้านับตั้งแต่ แถลงการณ์กรุงเทพฯ เรื่องภาษาและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พ.ศ. 2562 (2019 Bangkok Statement on Language and Inclusion) และกำหนดทิศทางสำหรับอนาคต

คุณสเตฟาเนีย จีอันนีนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของยูเนสโก กล่าวว่า 'ด้วยความมุ่งมั่นและการดำเนินการร่วมกันของเรา และด้วยการเสริมสร้างนโยบายการศึกษาแบบพหุภาษา เรากำลังกำหนดเส้นทางสู่ความเท่าเทียมและการนับรวมทุกกลุ่มคนอย่างแท้จริง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในการพลิกโฉมการศึกษา'

ข้อมูลเพิ่มเติม

ติดต่อ: 

  • Gregory Galligan สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ: g.galligan(at)unesco.org และ pio.bangkok(at)unesco.org 
  • Bunly Meas ยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กรุงเทพฯ: bmeas(at)unicef.org 

หากท่านต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาไปที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ 7MLE: https://asiapacificmle.net/conference/2023

เกี่ยวกับคณะทำงานว่าด้วยการจัดการศึกษาแบบพหุภาษาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก

คณะทำงานว่าด้วยการจัดการศึกษาแบบพหุภาษาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (MLE WG) ทำหน้าที่ภายใต้กรอบของกลุ่มเครือข่ายการเรียนรู้และการศึกษา 2030+ (LE2030+) เพื่อตอบสนองต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 MLE WG ในฐานะกลุ่มย่อยของ LE2030+ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิก และขจัดอุปสรรคทางภาษาสำหรับชุมชนภาษาชาติพันธุ์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 4 ในการ 'สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเสมอภาค และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต'

#MotherTongue #MotherLanguage #InclusiveEducation #Equity&InclusionInEducation

More from UNESCO Bangkok