children in a migrant learning centre having lunch

Story

ยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและอาหารแก่เด็กและเยาวชนข้ามชาติบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

โครงการดูแลและฟื้นฟูเด็กข้ามชาติขับเคลื่อนให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและเป็นองค์รวมสำหรับผู้เรียนวัยเยาว์ในสถานการณ์วิกฤต

โดย

ปพล วุฒิไกรเกรียง รองเจ้าหน้าที่โครงการ และไว่ชาน หม่า อาสาสมัคร สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ 

ในวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง ไม่ว่าสภาพอากาศจะร้อนหรือฝนจะตกสักมากน้อยเท่าใด คนทำงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครก็สามารถจับจ่ายอาหารที่มีให้เลือกสรรอย่างมากมาย ตรงกันข้ามกับเด็กและเยาวชนข้ามชาติในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชนพลัดถิ่น (Migrant Learning Centers – MLCs) ทั้ง 64 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตาก ที่อยู่ห่างออกจากกรุงเทพมหานครไปราว 400 กิโลเมตร เด็กและเยาวชนชาวเมียนมามากกว่า 15,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพหนีภัยความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในบ้านเกิดของตน กำลังเผชิญกับความหิวโหยอันโหดร้าย

ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชนพลัดถิ่นดำเนินการโดยหลากหลายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอื่น ๆ ศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีทรัพยากรจำกัด อาคารสถานที่ต่าง ๆ สร้างขึ้นจากวัสดุอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่ ห้องเรียนไม่ใช่ห้องเรียนที่เรารู้จักคุ้นเคย ไม่มีผนังกำแพงกั้นเป็นสัดส่วน ไม่ต้องพูดถึงการจะมีห้องครัว อาคารที่พัก หรือห้องน้ำที่มีสภาพที่เหมาะสม หรือแม้แต่ประตูที่จะปิดกั้นลมฝนที่รุนแรงหรือสัตว์ร้ายก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ภายใต้สภาวะที่เต็มไปด้วยความท้าทายเหล่านี้ ครูในศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งยังต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจไปที่เรื่องโภชนาการของเด็กอีกด้วย ครูเหล่านี้สรรหาวัตถุดิบที่อยู่ในท้องถิ่นเท่าที่จะหาได้ เพื่อนำมาประกอบอาหารที่หลากหลาย เพิ่มสีสันในการรับประทานตลอดจนคุณค่าทางอาหารให้กับมื้อกลางวันของเด็ก ๆ ในแต่ละวัน

a classroom at a migrant learning centre

เด็กและเยาวชนข้ามชาติเหล่านี้ ใช้เวลาในการเดินทางยาวนานกว่า 5 วัน ในการย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเข้ามาสู่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชนพลัดถิ่นในประเทศไทย แม้พวกเขาจะสามารถเดินทางมาถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย แต่ความท้าทายยังรอพวกเขาอยู่อีกมาก 

เด็กส่วนใหญ่ที่ไปเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้เตรียมอาหารกลางวันไปได้อย่างมากที่สุดก็คือข้าวสวยเปล่า ๆ เพียงเท่านั้น และบ่อยครั้งที่เด็กจำนวนมากไม่ได้มีอาหารกลางวันติดตัวไปด้วย ศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งก็ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้ได้ หรือหากจะจัดหาได้ ก็มีเพียงข้าวกับซุปที่ทำขึ้นโดยมีถั่วเป็นส่วนประกอบหลัก หรือไข่ที่เด็ก ๆ จะได้รับเพียงคนละ 1 ฟองต่อสัปดาห์เท่านั้น อาหารที่เด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับ มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานของเด็กที่กำลังเติบโต และไม่พอให้อิ่มท้องในแต่ละวันด้วยซ้ำ อาหารธรรมดาที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบกลายเป็นอาหารหรูหราที่เด็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้

kitchen/booking facilities at a migrant learning centre

นี่เป็นปัญหาร้ายแรง เนื่องจากความหิวโหยทำให้เด็กข้ามชาติจำนวนมากไม่อยากไปเรียน และแม้กระทั่งสำหรับเด็ก ๆ ในศูนย์การเรียนรู้ที่อาศัยอยู่ในที่พักอาศัยที่จัดไว้ให้ ที่พักเหล่านี้ก็มีศักยภาพที่จะจัดหาได้เพียงอาหารมื้อเช้าและมื้อเย็นเท่านั้น ทำให้เด็กจำนวนมากต้องอดอาหารมื้อกลางวัน จึงขาดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมงระหว่างมื้อเช้ากับมื้อเย็น การไม่มีอาหารกลางวันที่เพียงพอทำให้แรงจูงใจในการเรียนของเด็กลดลง และนำไปสู่อัตราการเข้าเรียนที่ลดต่ำลงอย่างมากในศูนย์การเรียนรู้หลายแห่ง ภาวะขาดแคลนอาหารจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าเรียนของเด็ก ๆ ดังนั้น นอกจากจะปกป้องคุ้มครองมิให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์หรือสภาวะที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดและคุกคามทางเพศ การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก อาหารกลางวันยังสามารถสร้างความแตกต่างในด้านผลการเรียนรู้อีกด้วย

ให้น้องท้องอิ่ม - การแจกจ่ายอาหารครั้งที่ 1

บัดนี้มีแสงสว่างแห่งความหวังแล้ว

ในกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ด้วยความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์จากรัฐบาลญี่ปุ่นและยูเนสโก และด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ (สพป.ตาก เขต 2) ได้มีการแจกจ่ายอาหารครั้งที่ 1 ให้กับศูนย์การเรียนรู้จำนวน 20 แห่งใน 3 อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก (อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และอำเภอพบพระ) ซึ่งได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนข้ามชาติอย่างน้อย 3,000 คน ให้ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการในทุกวัน ครูและเด็ก ๆ ต่างเฝ้าคอยรถกระจายอาหารที่นำวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารกลางวันไปส่งให้ เมื่อรถมาถึง ใบหน้าของทุกคนเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ทุกคนช่วยกันยกอาหารลงจากรถอย่างระมัดระวัง และจัดเรียงวัตถุดิบให้เข้าที่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

students moving food received from the project into the kitchen of their migrant learning centre

การแจกจ่ายอาหารครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนความพยายามในการบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาหารแห้งจำนวน 19 รายการ และอาหารสดจำนวน 23 รายการ ถูกบรรจุอยู่ในถุงสีรุ้งขนาดใหญ่ที่เราคุ้นตา เนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง ผักชนิดต่าง ๆ รวมถึงข้าวสารอาหารแห้ง และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ค่อย ๆ ถูกนำออกมาประกอบเป็นอาหารกลางวันที่มีทั้งคุณค่าทางโภชนาการและคุณค่าทางจิตใจ

dried food delivered to migrant learning centres

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการแจกจ่ายอาหาร ครูในศูนย์การเรียนรู้รายงานว่าเด็ก ๆ ชื่นชอบอาหารกลางวันของโรงเรียน เพราะมีความหลากหลายทั้งในวัตถุดิบและประเภทของอาหารที่ช่วยให้เด็ก ๆ อิ่มท้องและเติมพลังให้พร้อมเรียนรู้ในแต่ละวัน เด็กหลายคนดีใจ เพราะได้รู้จักและกินกุ้งเป็นครั้งแรกในชีวิต

migrant learners having lunch together

การมีอาหารกลางวันช่วยทำให้เด็ก ๆ สดใส ร่าเริง มีความกระตือรือร้นและพร้อมที่จะใส่ใจในการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้มาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่งรายงานว่า ‘ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นและยูเนสโก เด็ก ๆ มักไม่มาเรียนเพราะไม่มีอาหารกลางวัน แต่ในตอนนี้เด็ก ๆ มาเข้าเรียนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์’

children in a migrant learning centre having lunch

ทั้งนี้ จะมีการแจกจ่ายอาหารเพิ่มเติมตลอดระยะเวลาของโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ. 2567 หรืออาจขยายระยะเวลาออกไปในกรณีที่มีผู้สนใจมาทำงานร่วมกันมากขึ้น 

fresh food delivered to migrant learning centres

นอกจากนี้ โครงการการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ (UNESCO Regional Office in Bangkok) ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนพลัดถิ่นได้พัฒนาความสามารถทางดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้ ไม่เพียงแค่จัดการกับปัญหาความหิวโหยและความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในศูนย์การเรียนรู้เพื่อฟื้นคืนความรู้สึกของความสามัคคีในครอบครัวในชีวิตประจำวัน ครูและนักเรียนผลัดกันเตรียมอาหาร ในขณะที่ผู้ปกครองและอาสาสมัครจากหมู่บ้านใกล้เคียงช่วยกันดูแลส่วนที่ขาดตกบกพร่อง ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงอาณัติระดับภูมิภาคของยูเนสโกในการดูแลความเป็นอยู่ของเด็กข้ามชาติเพื่อสนับสนุนพวกเขาตลอดเส้นทางการศึกษา

preparing food at a migrant learning centre

สู่การเสริมสร้างศักยภาพและก้าวต่อไป

นอกจากจะได้ร่วมมือกันในการแจกจ่ายอาหารแล้ว ความร่วมมือระหว่างยูเนสโกและ สพป.ตาก เขต 2 ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในระยะยาวภายในศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งอีกด้วย เด็ก ๆ และครูในศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ได้เรียนรู้ที่จะเก็บรักษาและถนอมอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับมอบมาให้ยังคงความสด ไม่เน่าเสีย และสามารถเก็บได้นานขึ้นอย่างถูกหลักอนามัยแม้จะไม่มีตู้เย็นสำหรับเก็บอาหาร (เนื่องจากจำเป็นต้องประหยัดค่าไฟ) อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้บางแห่งยังขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการอาหารสดในปริมาณมาก ส่งผลให้ผักเน่าเสียในสภาวะการจัดเก็บที่ไม่เอื้ออำนวย ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์นี้ สพป.ตาก เขต 2 จึงได้ให้ความรู้และเสริมขีดความสามารถในการจัดเก็บอาหารและการจัดการห่วงโซ่ความเย็น เพื่อให้มั่นใจได้ถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร และคาดว่าจะมีการซื้อตู้แช่แข็งในอนาคต

storing food in a cooler at a migrant learning centre

เมื่อไม่นานมานี้ สพป.ตาก เขต 2 ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับอาจารย์ใหญ่และครูจากศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเน้นที่การจัดการส่วนผสมอาหาร มื้ออาหาร และโภชนาการสำหรับนักเรียนข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์ใหญ่จากศูนย์การเรียนรู้ 20 แห่งได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการที่ดีเพื่อเก็บรักษาอาหารในจำนวนมาก

เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบของการแจกจ่ายอาหารได้ดียิ่งขึ้น ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ จะบันทึกรายการวัตถุดิบ และส่งรายการอาหารให้กับ สพป.ตาก เขต 2 เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและศูนย์การเรียนรู้ที่จะจัดสรรให้เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบทั้ง 5 หมู่

a migrant learning centre

อีกส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ จะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้คือ แจกจ่ายอุปกรณ์ไอทีให้กับศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน เสริมสร้างการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันให้กับเด็กและเยาวชนข้ามชาติในศูนย์การเรียนรู้เหล่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของยูเนสโกในการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเด็ก ๆ จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีเนื้อหาวิชาหลักทั้งภาษาไทยและภาษาเมียนมา ในรูปแบบวิดีโอคุณภาพสูง

ในปลายปี พ.ศ. 2566 นี้ ยูเนสโกจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงอาคารในศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น สร้างอาคารโรงนอน ห้องเรียน ห้องครัว ห้องอาบน้ำ และห้องสุขา โดยเริ่มจากศูนย์การเรียนรู้ที่มีนักเรียนอยู่อาศัยประจำจำนวน 20 แห่ง เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับการเรียนรู้เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง

kitchen facilities at a migrant learning centre

ความท้าทายต่อจากนี้ที่คุณเองก็สามารถช่วยได้

การแจกจ่ายอาหารครั้งแรก แม้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ยูเนสโกก็ยังเห็นความท้าทายอยู่อีกมากในอนาคต ข้าวสารที่ได้รับแจกจ่ายกำลังจะหมดลง เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน การดูแลเด็ก ๆ จำนวนมากที่กำลังเติบโตในศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งต้องใช้ข้าวสารมากกว่าเดือนละ 1,200 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย 

ศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งที่มีเด็กและเยาวชนข้ามชาติอยู่เกินกว่าศักยภาพที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึงยังคงต้องเปิดรับผู้อพยพรายใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ในปัจจุบันเด็กกว่าร้อยละ 30 ที่เข้าเรียนในศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 64 แห่งจำนวนรวมนับหมื่นคนนั้น เป็นเด็กที่อพยพมาใหม่

ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากในการสร้างและบูรณะอาคารต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นห้องเรียนและที่อยู่อาศัยที่ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ยังมีศูนย์การเรียนรู้ 2 แห่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และจำเป็นต้องมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าให้เด็ก ๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ความช่วยเหลือในทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก จะช่วยให้เด็กและเยาวชนผู้อพยพหนีความวุ่นวายทางการเมืองที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้น และต้องระหกระเหินออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอน ได้มีที่พักพิงที่เหมาะสม มีอาหารอิ่มท้อง และมีสิทธิในการเรียนหนังสือ อย่างที่เด็ก ๆ ทั่วไปควรจะได้รับ

rainbow-coloured bags

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับเรา กรุณาติดต่อ ปพล วุฒิไกรเกรียง รองเจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ที่ p.dhutikraikriang@unesco.org และส่งสำเนาถึง eisd.bgk@unesco.org.


บทความนี้เป็นการแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยโดยอภิพล แซ่ตั้ง อาสาสมัคร กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ 

#Care&RecoveryforMigrantChildren #Literacy&LifelongLearning

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปพล วุฒิไกรเกรียงเป็นรองเจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ 

ไว่ชาน หม่าเป็นอาสาสมัคร กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ 

More from UNESCO Bangkok