Idea

การหาแนวทางแก้ปัญหาอุทกภัยโดยอาศัยมรดกเป็นพื้นฐาน

Buddha Head Tree Roots flood in Wat Mahathat at Ayutthaya Historical Park Tree Roots flood

เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไทยประสบเหตุอุทกภัย เราจะได้ยินเสียงเรียกร้องมากมายให้ขยายทางระบายน้ำ ทำแนวกั้นริมแม่น้ำใหม่ และสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามด้านวิศวกรรมเพื่อกู้ภัยมาตลอดหลายปี อุทกภัยก็ยังคงสร้างความสูญเสียเรื่อยมา

แน่นอนว่าการจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน อีกทั้ง การแก้ปัญหาก็ยากลำบากเพราะต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานรัฐหลายภาคส่วน

เราจำเป็นต้องพึ่งพิงโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมที่แค่พัฒนาให้ใหญ่ขึ้นหรือชาญฉลาดขึ้นเท่านั้นหรือ เราควรพิจารณาแนวทางอื่นหรือไม่ มีวิธีการรับมืออื่น ๆ ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและสภาพท้องถิ่นมากกว่านี้หรือไม่

‘แนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ เป็นวลีที่นิยมมากในแวดวงการจัดการสิ่งแวดล้อมและชุมชนเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใจความหลักก็คือ การพึ่งพาพลังของธรรมชาติในการจัดการปัญหาต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ตัวอย่างเช่น การฟื้นฟูป่าชายเลนตามพื้นที่ชายฝั่งสามารถช่วยลดแรงปะทะของคลื่นลมที่เกิดจากพายุ ดินที่ปนเปื้อนมลพิษทางอุตสาหกรรมสามารถบำบัดได้โดยใช้พืช จุลินทรีย์ วัสดุธรรมชาติ พลังงานลมและแสงอาทิตย์ วิธีการเหล่านี้ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดและยั่งยืนกว่าเทคนิคธรรมดาทั่วไป ซึ่งมักจะมีราคาแพง ใช้พลังงานสูง และบางครั้งก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่ได้คาดคิด เช่น ก่อให้เกิดมลพิษในรูปแบบอื่น ๆ

ในทำนองเดียวกัน แนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยมรดกเป็นพื้นฐานก็สามารถช่วยได้ มรดกหมายรวมถึงทรัพย์สินทางธรรมชาติและทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของเรา แนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยมรดกเป็นพื้นฐานจึงต้องใช้ทั้งความรู้ด้านวัฒนธรรมและด้านธรรมชาติ ในอดีต อาคาร ถิ่นที่อยู่อาศัย และภูมิทัศน์ได้รับการออกแบบจากความเข้าใจเรื่องดินฟ้าอากาศอย่างลึกซึ้ง การจัดการน้ำในสมัยโบราณทำงานโดยอาศัยความลาดชันของภูมิประเทศ แรงโน้มถ่วง และการขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาล โดยใช้กลศาสตร์พื้นฐานเป็นตัวช่วย แนวคิดนี้ต่างจากทัศนคติทางวิศวกรรมสมัยใหม่ ซึ่งพยายามอย่างมากที่จะเอาชนะพลังแห่งธรรมชาติ แต่ที่สุดแล้วก็มักเป็นไปในทิศทางที่ไม่ยั่งยืน

หลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือนในปี พ.ศ. 2554 ยูเนสโกได้สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและกรมศิลปากร ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาจากประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ข้อเสนอแนะหนึ่งที่พวกเขาเสนอคือ ให้ฟื้นฟูเครือข่ายคลองและบ่อน้ำโบราณในกรุงเก่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำชั่วคราวในช่วงน้ำท่วมฉับพลัน

นักผังเมืองยังชี้ให้เห็นความจำเป็นของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ เกาะเมืองให้ได้มากที่สุด พื้นที่สีเขียวเหล่านี้เคยเป็นพื้นที่รับน้ำให้กับพระนครศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันนี้กลับเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและถูกลาดยางและเทปูนไปเสียแล้ว หากทำความเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ นักผังเมืองสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เช่น โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่

ในเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก การผสมผสานระหว่างแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยมรดกเป็นพื้นฐานและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ที่เวนิส ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณว่าการฟื้นฟูระบบที่เก็บน้ำโบราณ (ซึ่งมีมากกว่า 6,000 แห่งในศตวรรษที่ 19) จะสามารถตอบสนองการบริโภคน้ำในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายหลังเหตุวิกฤตจากพายุแซนดี ในปี พ.ศ. 2555 มหานครนิวยอร์กพยายามฟื้นตัวผ่าน ‘โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า-เขียว’ หรือโครงข่ายทางน้ำและพื้นที่สีเขียว โดยผสานการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานแบบ “หนัก” เช่น กำแพงกั้นน้ำ ควบคู่ไปกับการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ “เบา” ที่อาศัยการดัดแปลงภูมิทัศน์ เช่น สันดอนทรายริมชายฝั่ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่บ่อน้ำที่มีพรรณไม้น้ำและหลังคาเขียวช่วยกักเก็บ ชะลอ และบำบัดน้ำฝนไหลนอง

ทั่วยุโรป แนวคิดเพิ่มพื้นที่ให้แม่น้ำหรือ ‘room for the river’ อาศัยการสร้างพื้นที่เปิดโล่งริมแม่น้ำเพื่อรับน้ำหลากตามธรรมชาติในช่วงที่ฝนตก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการทำเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการพยายามสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพิ่มขึ้น การปรับช่องทางไหลของแม่น้ำ หรือสร้างเครื่องป้องกันสิ่งปลูกสร้างที่เปราะบางริมน้ำซึ่งสุดท้ายน้ำก็ท่วมถึงอยู่ดี

ในประเทศไทย การนำระบบวิธีมรดกและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ เป็นสิ่งที่ค่อย ๆ ได้การยอมรับมากขึ้น ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ชะอำ ได้มีการจัดการกับการกัดเซาะชายฝั่งโดยการรื้อตลิ่งคอนกรีตและโครงสร้างอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นหลังจากพายุลินดาพัดถล่มในปี พ.ศ. 2540 แต่ต่อมากลายเป็นต้นเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งทั้งหมดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ระบบนิเวศชายหาดยังได้รับการฟื้นฟูด้วยการกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ต้นสนและต้นโกงกาง นับตั้งแต่นั้นมา พรรณไม้ท้องถิ่นจึงกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง และดึงดูดให้นกและสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ กลับมาเช่นกัน พระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้รับรางวัล ‘Special Recognition for Sustainable Development’ ในการประกาศรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2564 สำหรับการบูรณาการสถาปัตยกรรมใหม่ให้เข้ากับบริบททางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน

แนวคิดบูรณาการในลักษณะเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นในโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการยอมรับสภาพแทนที่จะกีดกันน้ำท่วม พร้อมเตรียมระบบไว้กักเก็บและบำบัดน้ำฝน

แม้ว่าอุทกภัยคือปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้ แนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาโดยอาศัยมรดกเป็นพื้นฐานยังสามารถนำมาจัดการปัญหาอื่น ๆ ได้เช่นกัน วิธีการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของคนไทยอาศัยการระบายอากาศตามธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยประเทศไทยในเรื่องพันธสัญญาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากใช้พลังงานและผลิตของเสียน้อยลง นอกจากนี้ภูมิปัญญาและมรดกที่มีชีวิตอื่น ๆ สามารถ ยกระดับการดูแลสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่เราได้เห็นกับชาวมอแกนในทะเลอันดามันหรือชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่า

ถึงแม้การอนุรักษ์มรดกยังคงถูกมองว่าเป็นวาระนอกกระแสหลักในประเทศไทย แต่อันที่จริง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ต่างให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างมรดกท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่เพียงเพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุทาหรณ์ว่า ศักยภาพของมรดกไม่ได้มีประโยชน์แค่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันการท่องเที่ยวก็ยังคงไม่ฟื้นตัว และในบางพื้นที่อาจจะไม่มีวันฟื้นตัวได้เลย แต่การนำแนวคิดการแก้ปัญหาที่อาศัยมรดกเป็นพื้นฐานไปประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่าง ๆ อาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘Bio-Circular-Green’ (BCG - ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล (SDGs)


บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ อาสาสมัครด้านข้อมูลสาธารณะ กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ยูเนสโก กรุงเทพฯ และ พีรพัฒน์ อ่วยสุข เจ้าหน้าที่ของแผนกพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ 

#CultureForSustainableDevelopment #WorldHeritage

More from UNESCO Bangkok

About the authors

มณฑิรา หรยางกูร อูนากูล

มณฑิรา หรยางกูร อูนากูล เป็นเจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม ที่แผนกวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ มณฑิราสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และเอเชียตะวันออกศึกษา สถาปัตยกรรม และการวางผังเมือง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอทำงานให้กับยูเนสโก กรุงเทพฯ ในด้านการปกป้องและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมรดกทางวัฒนธรรมในเอเชียและแปซิฟิก