Idea

มรดกของเอเชียอาคเนย์ที่ถูกฉกชิงอย่างไม่รู้จบ เราจะหยุดการโจรกรรมวัฒนธรรมได้อย่างไร

 Bangkok National Museum exhibits "Return of the Lintels from Prasat Nong Hong and Prasat Khao Lon to Thailand" after many years of disappearance.

นักอนุรักษ์ชาวเนปาล ราบินดรา ปูริ กำลังควบคุมการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ถูกขโมย (Museum of Stolen Art) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงกาฐมาณฑุ เขาได้เล่าอย่างกระตือรือร้นว่า พิพิธภัณฑ์ของเขานั้นจะจัดแสดงประติมากรรมที่สร้างจำลองโบราณวัตถุสำคัญของเนปาลซึ่งถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกจากประเทศไปปรากฏในแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และคฤหาสน์หรูทั่วโลก ราวกับว่าสมบัติชาติเหล่านี้เป็นถ้วยรางวัล เขาสะท้อนจุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ที่ผิดแผลกแห่งนี้ว่า “ชาวเนปาลทุกคนที่มาเยือนที่แห่งนี้ หัวใจของพวกเขาต้องเหมือนถูกกรีดเป็นแผล และเลือดของพวกเขาจะต้องเดือดดาล”

เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงอันน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่เป็นอาชญากรรมคุกคามโลกในทุกวันนี้ และได้ถูกกล่าวถึงในซีรีย์สารคดีชุดใหม่ของแชนแนล นิวส์ เอเชีย ชื่อว่า Looted ซึ่งออกอากาศตอนแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สารคดีชุดนี้ติดตามกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักโบราณคดี และนักเล่าเรื่องทางโซเชียลมีเดีย ที่ตัดสินใจจัดการปัญหาด้วยตัวพวกเขาเอง และออกตามรอยค้นหาวัตถุอันล้ำค่าของประเทศของตนที่สูญหายและไปปรากฏในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและสถาบันการประมูลระดับโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตะวันตก

สารคดี Looted สะท้อนทัศนคติที่แตกต่างกันไปของผู้ที่อยู่ต่างฝั่งของปัญหา ซึ่งบางครั้งจะปกป้องจุดยืนทางการเมือง สังคม และจริยธรรมของตนอย่างเปิดเผย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในตอนแรกของสารคดีนี้ ซึ่งมีชื่อตอนว่า “นำเทพเจ้ากลับมา” ผู้ชมได้ฟังการสัมภาษณ์อลาสแตร์ กิ๊บสัน นักประมูลแห่ง Alastair Gibson Auctions ในลอนดอน

นายกิ๊บสัน เล่าว่า รัฐบาลจีนเพิ่งได้แจ้งขอให้บริษัทของเขานำกระติกเงินที่ใช้ในการล่าสัตว์สมัยราชวงศ์ชิงออกจากการประมูลครั้งล่าสุด โบราณวัตถุชิ้นนี้เคยเป็นสมบัติของจักรพรรดิจีน ก่อนที่จะถูกพรากจากพระราชวังฤดูร้อนโดยหน่วยทหารชาวอังกฤษในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่สอง นายกิ๊บสันได้ยินยอมทำตามคำขอของรัฐบาลจีน กระนั้นก็ได้แสดงความคิดเห็นต่างไว้ในสารคดีนี้ว่า

เราเห็นใจในความสูญเสียของชาวจีน อย่างไรก็ตาม หากศิลปวัตถุของจีนนั้นหาชมได้เพียงในประเทศจีน วัตถุเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมจีนให้กับชาวโลกได้อย่างไรกัน ผมจึงคิดว่า เป็นการดีกว่าที่ศิลปวัตถุของจีนนั้นกระจัดกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้โลกเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นในศิลปะวัฒนธรรมของจีน

และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนสารคดี Looted จะออกอากาศ มีอีกหนึ่งรายการทอล์คโชว์ยามดึกทางช่อง HBO ชื่อ Last Week Tonight with John Oliver ตอน “พิพิธภัณฑ์” (Museums) ได้ตั้งคำถามถึงความเป็นมาของการได้มาซึ่งวัตถุจัดแสดงในเหล่าพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ยังคงครอบครองโบราณวัตถุจากเอเชีย แอฟริกา และรัฐอาณานิคมเดิมต่าง ๆ ที่มีหลักฐานว่าถูกโจรกรรมไป และจัดแสดงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

จอห์น โอลิเวอร์ พิธีกรของรายการ สรุปประเด็นได้อย่างละเอียดและเผ็ดร้อน และปิดรายการด้วยฉากตลกร้ายจาก คุเมล นานจีอานี นักแสดงตลกชื่อดัง ที่ชวนให้คิดถึงสถานการณ์ที่กลับกัน โดยสมมติว่าในโลกนี้มี “พิพิธภัณฑ์เช็คบิล” (Payback Museum) ที่ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นตัวแทนของอารยธรรมตะวันตก โดยวางอย่างปะปนต้นตอทางวัฒนธรรม พร้อมป้ายอธิบายอย่างผิด ๆ

ในขณะที่สาธารณชนต่างรับรู้ถึงเรื่องราวอื้อฉาวว่า พิพิธภัณฑ์อันทรงเกียรติของโลกนั้นซื้อโบราณวัตถุมาจัดแสดงจากตลาดมืดมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว น้อยคนนักจะตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศของตนจะต้องมีมาตรการป้องกันอาชญากรรมประเภทนี้ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจำนวนมากจากประเทศของเราที่ถูกลักลอบนำออกไปสู่ตลาดศิลปะทั่วโลก

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประชาคมโลกในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ได้เห็นพ้องกันว่า การลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและการทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก ทั้งเป็นการพรากสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเข้าถึง ชื่นชม และสืบทอดวัฒนธรรมของตน อันเป็นสิ่งที่กฎหมายนานาชาติหลายฉบับรับรองไว้ แม้กระนั้น เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว สำนักงานตำรวจสากล (INTERPOL) ยังคงรายงานว่า เอเชียยังมีประเทศที่พบการขุดค้นโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้น มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก

บางทีคำถามที่เราควรถามอาจไม่ใช่ว่า เราจะได้โบราณวัตถุใดกลับมาประเทศของเราอีก แม้ว่าความพยายามที่มีอยู่ในการทำเช่นนั้นคือสิ่งสำคัญยิ่ง แต่เราควรตั้งคำถามถึงตัวเองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เราจะป้องกันให้ดีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดอาชญากรรมแบบนี้ได้อย่างไร

อันที่จริง มีหลายวิธีที่ปุถุชนอย่างเราทำได้ และไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้นมาดำเนินการแทนทุกคน วิธีที่ดีที่สุดนั้นต้องเกิดจากความร่วมมือไม่เฉพาะระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ แต่รวมถึงความร่วมมือของภาคประชาสังคมและสาธารณชน

ขั้นแรก ดังที่เนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวไว้ “การศึกษาคืออาวุธที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถใช้เปลี่ยนโลกได้” เยาวชนในภูมิภาคและประเทศของเราต้องได้รับการศึกษาที่ตรงประเด็นและได้รับการสนับสนุนให้ร่วมแก้ไขปัญหา ไม่ว่าด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาหรือความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การรณรงค์ผ่านสื่อ และการใช้สื่อเพื่อการสร้างความตระหนักทั้งในสถานศึกษาและให้แก่นักท่องเที่ยวให้สามารถแยกแยะการซื้อขายวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถือว่าผิดกฎหมายได้

ในระดับชาติ หน่วยงานรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการเฝ้าระวังอาชญากรรมต่อแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ประเทศกัมพูชาเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยความพยายามอย่างหนักที่จะปกป้องแหล่งมรดกโลกนครวัดจากการโจรกรรมและปล้นทำลาย รัฐบาลกัมพูชาได้เปิดรับความร่วมมือจากหลายประเทศ เพื่อให้สามารถจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพอย่างเป็นประจำให้กับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ครู นักเรียน นักข่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

นอกจากนั้นยังผลิตสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์จำนวนมากเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน จนกระทั่งกัมพูชามีความพร้อมลงมือปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2537 ประเทศกัมพูชา ด้วยความร่วมมือกับยูเนสโก ได้จัดตั้งหน่วยตำรวจพิเศษเพื่อการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ เฝ้าสังเกตกิจกรรมที่แหล่งซื้อขายของเก่าในประเทศ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันอาชญากรรมต่าง ๆ

รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยตำรวจ ศุลกากรและสรรพากรที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลากว่าสามทศวรรษแล้วที่หน่วยตำรวจพิเศษนี้ประสบความสำเร็จในการส่งโบราณวัตถุหลายพันชิ้นกลับคืนสู่โบราณสถานต่าง ๆ ในนครวัด

กระนั้น ภาครัฐนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม การเป็นหูเป็นตานั้นสำคัญอย่างยิ่งในการต่อกรกับโจรขโมยสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทุกคนเป็นเจ้าของ แม้ในท้องถิ่นที่ห่างไกลการสื่อสาร ตัวอย่างเช่นวัดเก่าแก่ในชนบทของประเทศไทย พระสงฆ์และชาวบ้านต่างต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถเป็นผู้นำการคุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นมรดกส่วนรวมภายในวัดและชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

ภาคเอกชนและประชาสังคมอาจช่วยพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันมือถือที่สามารถใช้ตามรอยเช่นเดียวกับในการทำงานป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าสงวน

ในระดับนานาชาติ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องแสดงออกถึงจุดยืนเพื่อแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าด้วยการตั้งข้อตกลงทวิภาคี หรือด้วยการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อช่วยประเทศป้องกันการลักลอบค้าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อาทิ อนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ. 1970 ว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการลักลอบนำเข้าส่งออกและการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และอนุสัญญาอูนิดรัว ปี ค.ศ. 1995 ว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยหรือส่งออกอย่างผิดกฎหมาย

สาเหตุที่เกิดอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ขึ้นมานั้นตรงไปตรงมา กล่าวคือ อนุสัญญานั้นช่วยให้เป้าหมายและหลักการของกฎหมายของชาติต่าง ๆ นั้นสอดคล้องและเกื้อหนุนกัน ฉะนั้น ทำให้แต่ละประเทศมีพื้นที่ตรงกลางที่สามารถเจรจาต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเด็นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการปกครองของตนเอง

แต่ประชาชนชาวเอเชียอาคเนย์น้อยคนนักที่จะทราบว่า ในปัจจุบัน ภูมิภาคของเรานั้นเป็นภูมิภาคที่ลงนามเข้าร่วมรับผลประโยชน์จากอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้น้อยที่สุดในโลก โดยมีเพียงกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่ลงนามในทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าว และเวียดนามลงนามในอนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ 1970 ในขณะนี้ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำข้อกำหนดในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1970 มาปรับปรุงกฎหมาย เสริมนโยบายป้องกันปัญหา ฟื้นฟูโครงสร้างการทำงานที่โปร่งใส จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้คนในประเทศสามารถปกป้องสมบัติของชาติได้ดียิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ปัจจุบันมี 143 ประเทศลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญานี้แล้ว ซึ่งจะทำให้อนุสัญญานี้กลายเป็นกฎหมายโลกสากลในไม่ช้า

ในขณะเดียวกัน รัฐประเทศที่ยังไม่ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาเหล่านี้ หรือยังไม่ได้ดำเนินมาตรการที่ช่วยให้ตนเองป้องกันและขจัดอาชญากรรมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจพึงตระหนักว่า ในยุคปัจจุบันที่ สื่อโซเชียลนั้นเข้าถึงทุกซอกมุมได้อย่างง่ายดาย ความคิดเห็นของสาธารณชนนั้นมีความสำคัญมาก ในขณะที่การโจรกรรมมรดกทางวัฒนธรรมนั้นยังคงเป็นภัยอันตรายที่แก้ไม่จบ รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมรดกเหล่านั้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จำเป็นต้องก้าวออกมาจากขอบเขตของตนเองและทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อให้พ้นจากจุดวิกฤติของปัญหา


ต้นฉบับของบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษและได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่บางกอกโพสต์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จากนั้น บทความนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและได้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565

#IllicitTraffickingOfCulturalProperty

Angkorr Wat

More from UNESCO Bangkok

About the authors

Daoud Bouledroua

ดาอุด โบเลอดรัว เป็นผู้เชี่ยวชาญบริหารแผนงาน แผนกโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์ ยูเนสโก กรุงปารีส เขาทำงานในสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ. 1970 ว่าด้วยแนวทางการห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และส่งมอบสิทธิครอบครองสมบัติวัฒนธรรม ก่อนหน้านั้น เขาได้ทำงานให้กับ UNHCR ในประเทศเลบานอน และทำงานให้กับฮิวแมนไรตส์วอตช์ (HRW) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในประเทศตูนิเซีย เขาสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาโทคู่สาขากิจการระหว่างประเทศ (เฉพาะทางด้านสิทธิมนุษยชนและการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม) จาก SciencesPo Paris และ Freie Universität Berlin เขาได้ผลิตสารคดีสั้นหลายเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในอัลมัฆริบ

Nisit Intamano

นิสิต อินทมาโน เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯ และเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานเป็นนักกฎหมายและที่ปรึกษากฎหมายนานกว่า 20 ปี นอกจากนี้ ผศ. ดร.นิสิตยังเป็นผู้พิพากษาสมทบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางของไทย เขามีความเชี่ยวชาญด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternate Dispute Resolution) การระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนกฎหมายนิติกรรมสัญญา  

Montakarn Suvanatap Kittipaisalsilp 

มนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เป็นเจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก ณ กรุงเทพฯ เพื่อพหุพันธกิจในภูมิภาค เธอสำเร็จการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยา และการพัฒนาโครงการวัฒนธรรม ที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ เธอมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการระดับชาติและระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การบริหารจัดการมรดกที่ยั่งยืน การยกระดับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับมรดกให้เป็นวิชาชีพ และการป้องกันการค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย เธอสนใจแนวทางสหวิทยาการแบบมีส่วนร่วมในการปกป้องมรดกและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยเน้นว่าจะต้องมีจริยธรรมในการทำงานควบคู่ไปกับชุมชนในท้องถิ่นและชาวพื้นเมือง