Tamnak Yai, Devavesm Palace

Story

ผู้พิทักษ์มรดก

ผู้พิทักษ์มรดก เช่น คุณสุมัยวดี เมฆสุต และคุณศรันยา บูรณวิทยวุฒิ ได้ช่วยทำนุบำรุงตำหนักใหญ่ของวังเทวะเวสม์ผ่านการบูรณะซ่อมแซมอย่างพิถีพิถัน

มองจากเฉลียงมุขทางเข้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลไปตามวิถีอย่างสง่างามภายใต้อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของสะพานพระราม 8 ให้บรรยากาศที่ทั้งร่มรื่นและตระการตาในขณะเดียวกัน

View of the Chao Phraya River from the second-floor balcony of Tamnak Yai, Devavesm Palace

คุณสุมัยวดี เมฆสุต กล่าวว่า ‘วิวแบบนี้ จะมีสักกี่คนที่ได้เข้ามานั่งทำงานนี้’ คุณสุมัยวดีดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนบริหารศูนย์การเรียนรู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ธปท. เป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์ คุณสุมัยวดีทำงานที่ ธปท. มาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว โดย 17 ปีแรกทำหน้าที่เป็นนักจดหมายเหตุ ก่อนที่จะหันมาอุทิศตนให้กับการดูแลคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์อันล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์ ธปท. และนำแขกพิเศษของ ธปท. เยี่ยมชมแหล่งมรดกแห่งนี้

Sumaivadee Mekasut, Assistant Director for Learning Center Management, Bank of Thailand

ปัจจุบันคุณสุมัยวดีทำงานจนใกล้เกษียณแล้ว และได้หวนรำลึกถึงความทรงจำดี ๆ มากมายเกี่ยวกับวังเทวะเวสม์ เช่น ห้องบรรทมชั้น 3 ที่ตำหนักใหญ่เคยใช้เป็นพื้นที่สำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ธปท. คุณสุมัยวดีชี้ไปที่มุมหนึ่งของห้องและกล่าวว่า ‘พี่เคยนั่งอยู่ตรงนี้’

Bedchamber, Tamnak Yai, Devavesm Palace

คุณสุมัยวดียังเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างการซ้อมใหญ่ขบวนเรือพระราชพิธี การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะเริ่มตรงจุดที่ไม่ไกลออกไปจากเรือนแพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อาคารบริวารของวังเทวะเวสม์ที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเสร็จงานในช่วงเย็น จะทันเวลาพอดีสำหรับคุณสุมัยวดีในการชมขบวนเรืออันวิจิตรงดงามจากอาคารตำหนักใหญ่ ในขณะที่เรือเคลื่อนขบวนอย่างสง่าผ่าเผยไปยังวัดอรุณราชวราราม

Interior of the Floating House, Devavesm Palace

คุณสุมัยวดีอธิบายว่าแขกบ้านแขกเมือง (รวมถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เสด็จเยือนประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพิธีกาญจนาภิเษกในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี) สามารถชมขบวนเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิดจากเรือนแพ

View of the Chao Phraya River from the Floating House

วังเทวะเวสม์สร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2457 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พ.ศ. 2401-2466) พระมาตุลาของพระองค์ ผู้ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอย่างยาวนานจากสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6

Portrait of Prince Devawongse Varopakarn

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีส่วนร่วมในการเลือกวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งตำหนักใหญ่ด้วยพระองค์เอง ตัวอย่างเช่น คุณศรันยา บูรณวิทยวุฒิ รองผู้อำนวยการ ส่วนบริหารอาคารและระบบวิศวกรรมที่ ธปท. เล่าให้ฟังว่า ในเบื้องต้น ได้มีช่างทูลฯ เสนอกระเบื้องหลังคาสีขาว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธและยืนยันพระประสงค์ให้หลังคาตำหนักเป็นสีแดง

Saranya Buranavittayawut, Associate Director for Facilities Engineering Systems Management, Bank of Thailand

คุณศรันยาตั้งข้อสังเกตว่า ‘การออกแบบทางสถาปัตยกรรมมีแนวความคิดต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เล่าเรื่องราวแนวความคิดของท่าน’ เมื่อเทียบกับความหรูหราสไตล์นีโอบาโรกของวังบางขุนพรหมที่อยู่ใกล้เคียง ความสมดุลแบบนีโอคลาสสิกและความสละสลวยแบบเรียบง่ายของวังเทวะเวสม์อาจสะท้อนถึงแนวคิดเชิงวิเคราะห์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อนึ่ง พระองค์ทรงเป็นผู้คิดค้นปฏิทินแบบสุริยคติของไทย โดยให้คำลงท้ายของแต่ละเดือนบ่งบอกถึงจำนวนวันในเดือนนั้น

First-floor reception room, Tamnak Yai

คุณศรันยาอธิบายว่า ‘การออกแบบของอาคารตำหนัก เขาเรียกนีโอคลาสสิก แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบของประตู หน้าต่าง ก็ยังมีการออกแบบที่ใช้สำหรับบ้านเมืองร้อน จะมีช่องเปิดต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมกับการที่จะให้ระบายลมในช่วงหน้าร้อน’

คุณสุมัยวดีกล่าวว่า ‘ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าใต้หน้าต่างสามารถเปิดได้’ ก่อนที่จะเปิดให้ดูทันที คุณสุมัยวดียังเสริมอย่างอารมณ์ดีว่า ‘เวลาฝนฟ้าตก แม่บ้านจะต้องวิ่งไปปิดหน้าต่าง เราก็ต้องวิ่งไปช่วย’

First-floor corridor, Tamnak Yai

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2466 ทายาทของพระองค์สืบทอดและอาศัยอยู่ที่วังเทวะเวสม์จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขซื้อที่ดินและอาคารต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2493 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ธปท. ได้กลายมาเป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์  และมีการวางแผนแม่บทที่จะให้วังริมแม่น้ำทั้งสองแห่ง (คือวังเทวะเวสม์และวังบางขุนพรหม) ได้รับการอนุรักษ์เพื่อเป็นภูมิสัญลักษณ์อันงดงาม ในขณะที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ ธปท. (‘อาคาร 1’) จะได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นภูมิหลังที่สอดคล้องกับแหล่งมรดกทั้งสองอย่างกลมกลืน

คุณศรันยากล่าวว่า สมัยที่เป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ท่านหนึ่งได้พาเธอมาดูงานซ่อมแซมที่วังบางขุนพรหม คุณศรันยาเล่าถึงความประทับใจในครั้งนั้น ‘เป็นตำหนักที่สวยงามมาก อยากจะทำงานที่นี่’ โอกาสครั้งใหญ่ของคุณศรันยามาถึงในปี พ.ศ. 2536 เมื่อ ธปท. ต้องการสถาปนิกมาดูแลโครงการฟื้นฟูบริเวณและอาคารต่าง ๆ ของวังเทวะเวสม์ คุณศรันยาไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนั้น และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะตำหนักใหญ่

Designed to maximize ventilation, second-floor window, Tamnak Yai

คุณศรันยาอธิบายว่า ‘ในการทำงานของแบงก์ชาติก็จะทำงานคู่กับกรมศิลปากรมาโดยตลอด เพื่อนำมาซึ่งกระบวนการซ่อมที่อ้างอิงถึงของเก่าด้วย’ ทุกรายละเอียดที่ตำหนักใหญ่ได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ต้องมีการสืบหาที่มาของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น บานพับ กลอนประตู มีการใช้เครื่องเป่าผมเพื่อค่อย ๆ ลอกสีผนังที่ทาทับไว้และเผยให้เห็นถึงสีเดิม นอกจากนี้ คุณสุมัยวดีกล่าวว่า สิ่งใดก็ตามที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เช่น ระบบปรับอากาศ จะต้องทำการติดตั้งในลักษณะที่ไม่ขัดต่อสุนทรียภาพดั้งเดิม

ทุกแง่มุมของกระบวนการบูรณะได้รับการบันทึกไว้อย่างครบถ้วน และมีการจัดแสดงถาวรทั้งที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์และเกี่ยวกับพระประวัติสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใน 2 ห้องชั้นล่างของตำหนักใหญ่

“Building 1” (right) serving as the backdrop for Tamnak Yai

โครงการบูรณะตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ได้รับ Honourable Mention จากยูเนสโกในการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยการประกวดรางวัลดังกล่าวได้เชิดชูความสำเร็จในการอนุรักษ์อาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายของยูเนสโกในการมอบรางวัลดังกล่าวเน้นย้ำถึง ‘การวิจัยที่ซับซ้อนเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่เหมาะสม และการปรับการใช้สอยอย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่’

ทุกวันนี้ วังเทวะเวสม์ยังคงได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถัน คุณสุมัยวดีกล่าวว่า ‘ตึกนี้จะต้องถูกทำความสะอาดทุกวัน เช้าทำชั้นล่าง ตอนสายก็จะทำข้างบน’ หนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดคือการเอนตัวของตำหนักใหญ่ ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจากความอ่อนตัวของดินริมแม่น้ำ หากยืนอยู่บนระเบียงชั้น 2 จะสามารถรู้สึกได้อย่างเด่นชัดถึงความเอียงไปทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม คุณศรันยายืนยันว่า ได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากการเอนตัวของตำหนักใหญ่แล้ว และยังมีการติดตามตรวจสอบการทรุดตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจถึงความมั่นคงและความปลอดภัยของอาคาร

Exhibits documenting the conservation project at Devavesm Palace

จิตวิญญาณของสถานที่อาจเป็นสิ่งที่สามารถอนุรักษ์และเทิดทูนได้ด้วยความแท้และความครบถ้วนสมบูรณ์ทางวัตถุ แต่ที่สุดแล้ว จิตวิญญาณนั้นจะเปี่ยมด้วยความหมายสำหรับความเป็นมนุษย์ก็ต่อเมื่อได้รับการถ่ายทอดผ่านบุคคลที่หวงแหนและดูแลสถานที่แห่งนั้นด้วยใจรัก กล่าวคือ คนส่วนน้อยที่อุทิศตนจนเรื่องราวชีวิตและความใฝ่ฝัของพวกเขาได้พัฒนาความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับมรดกที่พวกเขามุ่งพิทักษ์รักษาทุกวี่วันให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

รับชมวิดีโอบทสัมภาษณ์ผู้พิทักษ์มรดกแห่งตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ กรุงเทพฯ


บทความนี้เป็นฉบับแปลภาษาไทยโดยผู้เขียนต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งดัดแปลงมาเล็กน้อยจากบทความที่ออกเผยแพร่ครั้งแรกทางหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 

Tamnak Yai, Devavesm Palace

#CultureForSustainableDevelopment

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของยูเนสโก (UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation หรือ #HeritageAwards) ได้จากหน้าเว็บเพจของโครงการที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)

More from UNESCO Bangkok

About the authors

ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ

ชัยรัตน์ จงวัฒนกิจ เป็นที่ปรึกษาสัญชาติไทย-แคนาดา เชี่ยวชาญด้านการสร้างเนื้อหาให้กับกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ที่สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ชัยรัตน์สนับสนุนการรายงาน การแปล การพัฒนาสื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

นอกเหนือจากประสบการณ์เป็นนักแปลมืออาชีพแล้ว ชัยรัตน์ยังเป็นนักเปียโนและนักการศึกษาด้านดนตรีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต ที่ซึ่งเขาได้สอนทฤษฎีดนตรีและวรรณกรรมเปียโน ชัยรัตน์ได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และได้รับเชิญบรรยายและสอนมาสเตอร์คลาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันดนตรียามาฮ่า กรุงเทพฯ