News

นักอนุรักษ์และนักโบราณคดีจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้น้ำ

มี 26 คนเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างยูเนสโก กรุงเทพฯ ซีมีโอสปาฟา และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ

ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 26 คน ประกอบด้วยนักอนุรักษ์วัสดุและนักโบราณคดีใต้น้ำจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางมาร่วมกิจกรรมการฝึกอบรบเชิงปฏิบัติการที่ประเทศไทยระยะเวลาทั้งสิ้น 11 วัน เพื่อเรียนรู้เทคนิคการอนุรักษ์และการสงวนรักษาโบราณวัตถุจากใต้น้ำ เช่น โบราณวัตถุที่มักพบในซากเรืออับปาง

หลักสูตรหัวข้อ 'South-East Asian Sub-regional Introductory Course on Conservation and Restoration of Underwater Archaeological Finds' (หลักสูตรเบื้องต้นด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ อาคารซีมีโอสปาฟา กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างซีมีโอสปาฟา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ยูเนสโก และศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ (ศูนย์ประเภทที่ 2 ภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก ณ เมืองซาดาร์ ประเทศโครเอเชีย)

หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมนักวิชาชีพด้านการอนุรักษ์ให้มีทักษะความรู้ที่เหมาะสมซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำอันอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไปได้

Mr Romeu Sores Da Silva นักโบราณคดีจากกระทรวงศิลปะและวัฒนธรรมแห่งติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมฝึกอบรมฯ กล่าวว่า 'ผมตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมหลักสูตรนี้ เนื่องจากที่ติมอร์-เลสเตยังไม่มีการพัฒนางานวิจัยทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีใต้น้ำเท่าที่ควร การเข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตรเบื้องต้นนี้ ผมคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสเรียนรู้นโยบายและมาตรการด้านการปกป้อง คุ้มครอง และอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้น้ำจากผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนสมาชิกจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย'

ทั้งนี้ หากผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเป็นนักอนุรักษ์หรือนักบูรณะฟื้นฟูโบราณวัตถุที่มีประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้วอย่างเช่น Mr Sokha Tep หัวหน้ากลุ่มงานวิเคราะห์และห้องปฏิบัติการของกรมโบราณคดีและยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศกัมพูชา หลักสูตรนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้นักอนุรักษ์ดังกล่าวได้เจาะลึกทักษะเฉพาะที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาโบราณวัตถุที่ กู้คืนได้จากพื้นที่ชุ่มน้ำ 'ผมชอบทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูวัสดุประเภทเซรามิกส์ แต่ในหลักสูตรนี้ ผมหวังว่าจะได้เรียนรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูวัสดุประเภทไม้และโลหะเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้สามารถอนุรักษ์และปกป้องโบราณวัตถุศิลปวัตถุได้หลากหลายประเภทและถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม' Mr Sokha Tep กล่าว

การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมยังได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี จังหวัดจันทบุรี และกองโบราณคดีใต้น้ำ รวมทั้งยังได้เข้าชมเทคนิคการจัดเก็บรักษาซากเรืออับปางเสม็ดงาม

Mr Manh Nguyen Huu ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากประเทศเวียดนามและอาจารย์จากภาควิชาโบราณคดี คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ณ กรุงฮานอย กล่าวว่า 'นอกเหนือจากการเรียนรู้เทคนิคการอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้น้ำแล้ว ผมยังสนใจเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการบริหารจัดการมรดกของประเทศไทยได้ดีขึ้น และคิดว่าน่าจะได้เรียนรู้การบริหารจัดการและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานโบราณคดีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานโบราณคดีใต้น้ำ' Mr Nguyen Huu กล่าว

 

Certificate awarding ceremony of the 'South-East Asian Sub-regional Introductory Course on Conservation and Restoration of Underwater Archaeological Finds'

หลักสูตรนี้สิ้นสุดลงด้วยพิธีปิดในวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 ณ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำ และมีการกล่าวปิดการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการโดยนายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสปฟา ดร. เฟิง จิ่ง หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ และนายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร

Certificate awarding ceremony of the 'South-East Asian Sub-regional Introductory Course on Conservation and Restoration of Underwater Archaeological Finds'

เกี่ยวกับ SEAMEO SPAFA (ซีมีโอสปาฟา)

ศูนย์ระดับภูมิภาคที่มีภารกิจพัฒนาการวิจัย ฝึกอบรม และสร้างความร่วมมือด้านโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก

เกี่ยวกับ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนางานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งปกป้อง คุ้มครองความหลากหลายด้านประเพณีวัฒนธรรมของชาติ

เกี่ยวกับ UNESCO (ยูเนสโก)องค์การระหว่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสาร เพื่อสร้างสันติภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเจรจาข้ามวัฒนธรรม

เกี่ยวกับ ICUA

ศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ ณ เมืองซาดาร์ (International Centre for Underwater Archaeology in Zadar) สาธารณรัฐโครเอเชีย จัดตั้งขึ้นด้วยความอุปถัมภ์จากองค์การยูเนสโก โดยมุ่งเน้นจัดกิจกรรมการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพด้านการวิจัย อนุรักษ์ บูรณปฏิสังขรณ์ และส่งเสริมงานมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ โดยเฉพาะระดับนานาชาติ

#UnderwaterCulturalHeritage

More from UNESCO Bangkok